กองทุนเงินให้กู้ยืมฯ (กยศ.)

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

 

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  (กยศ.) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2539 ในลักษณะเงินทุนหมุนเวียน ตามนัยมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ต่อมารัฐบาลได้พิจารณาเห็นความสำคัญของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษามากขึ้น จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 มีผลให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

 

วัตถุประสงค์

กยศ. มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพ ระหว่างศึกษา ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวะศึกษา และระดับอุดมศึกษาได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง

 

คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์กู้ยืมเงิน

นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญและสายอาชีพ) นักศึกษาระดับอุดมศึกษา (อนุปริญญา ปริญญาตรี) ทั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ รวมทั้งการศึกษาประเภทอาชีวศึกษา (ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง อนุปริญญา ปริญญาตรี)

1.เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2.เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ หมายความว่า มีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาท/ปี(ยกเว้นผู้ขอกู้ยืมรายเก่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 ย้อนหลังไป จะต้องมีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 300,000 บาท/ปี
3.เป็นผู้ที่มีผลการเรียนดี ผ่านเกณฑ์การวัดและประเมินผลของสถาบันการศึกษา
4.เป็นผู้มีความประพฤติดี
5.เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบประกาศสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในโรงเรียนสถานศึกษา หรือสถานศึกษาที่อยู่ใน สังกัดการควบคุมหรือกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงหรือส่วนราชการอื่นๆ ทบวงมหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ
6.ไม่เคยเป็นผู้สำเร็จปริญญาตรีในสาขาใดๆ มาก่อน
7.ไม่เป็นผู้ที่ทำงานในระหว่างศึกษา
8.ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
9.ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก วันแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
10.ต้องมีอายุในขณะที่ขอกู้โดยเมื่อนับรวมกับระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี และระยะเวลาผ่อนชําระอีก 15 ปี รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60 ปี

วิธีการขอกู้ยืม

1. ให้นักศึกษาขอแบบคำขอกู้ยืมได้ที่สถานศึกษา
2. กรอกแบบคำขอกู้ยืม
3. ยื่นแบบคำขอกู้ยืม ณ สถานศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่
4. เมื่อได้รับอนุมัติจากสถานศึกษา ให้ทำสัญญาโดยมีการประกันสัญญากู้ยืม
5. ให้เปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารกรุงไทยสาขาใดก็ได้

ผู้ค้ำประกันในสัญญากู้ยืมเงิน

1. บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
2. กรณีบิดามารดาเสียชีวิต ให้ผู้ปกครองที่รับอุปการะเลี้ยงดูลงนามแทน
3. บุคคลที่ประกอบอาชีพมีรายได้น่าเชื่อถือ
4. กรณีคู่สมรสของผู้ค้ำประกันไม่ให้ความยินยอมให้ผู้ค้ำประกันลงนามฝ่ายเดียวได้
5. กรณีไม่มีบุคคลค้ำประกัน ให้ใช้หลักทรัพย์แทน

การลงนามค้ำประกันในสัญญากู้ยืมเงิน

ให้ผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อค้ำประกันในสัญญากู้ยืมต่อหน้าสถานศึกษา หากผู้ค้ำประกันมีที่อยู่ห่างไกลจากสถานศึกษาให้จัดส่งสัญญาให้ผู้ค้ำประกันลงลายมือชื่อค้ำประกันได้ และต้องให้เจ้าพนักงานทะเบียนท้องที่ (อำเภอ) หรือเจ้าพนักงานทะเบียนท้องถิ่น (เทศบาลหรือสำนักงานเขต) ในเขตพื้นที่ที่ผู้ค้ำประกันอาศัยอยู่ ลงนามรับรองลายมือชื่อของผู้ค้ำประกัน

บุคคลผู้รับรองรายได้ในสัญญากู้ยืมเงิน

1. ข้าราชการระดับ 5 ขึ้นไป หรือเทียบเท่า หากรับราชการทหาร หรือตำรวจ ต้องมียศตั้งแต่พันตรีขึ้นไป
2. ผู้บริหารสถานศึกษา (ทั้งสถานที่เดิม หรือที่ใหม่)
3. ผู้ปกครองท้องถิ่นระดับผู้ใหญ่บ้านขึ้นไป
(ส่วนพนักงานรัฐวิสาหกิจ นายกเทศมนตรีหรือตำแหน่งอื่นที่นอกเหนือจากนี้ไม่สามารถรับรองได้)

เงื่อนไขและข้อปฏิบัติที่ควรทราบในการทำสัญญากู้ยืม

1. ต้องไม่ทําสัญญาเกินขอบเขตวงเงินกู้ยืมที่ได้รับ
2. ให้ผู้กู้ยืมเงินกรอกสัญญาให้ครบถ้วน โดยเฉพาะเลขบัตรประจําตัวประชาชน ที่อยู่ ระดับการศึกษา และชั้นปีการศึกษา หากเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วนจะมีผลให้การพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมล่าช้า
3. กรณีมีการแก้ไขแห่งใดในสัญญา ผู้กู้ยืมต้องลงลายมือชื่อกำกับทุกแห่ง และห้ามใช้น้ำยาลบคำผิด (ลิควิดเปเปอร์) และหากกรอกข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงจะถือว่าให้ข้อมูลเป็นเท็จ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
4. เอกสารทุกฉบับต้องลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง โดยเจ้าของเอกสารเป็นผู้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ได้แก่ ผู้กู้ยืม บิดามารดา ผู้ปกครอง และผู้ค้ำประกัน ผู้รับรองเงินเดือนหรือรายได้ อาจารย์แนะแนวและอาจารย์ที่ปรึกษา เป็นต้น
5. ผู้กู้ยืมที่ศึกษาชั้นปีสุดท้ายของหลักสูตร ให้ระบุ “ชั้นปีสุดท้าย” ที่มุมขวาของสัญญาด้วย
6. ผู้กู้ยืม ผู้ค้ำประกัน ผู้แทนโดยชอบธรรม (กรณีผู้กู้ยืมยังไม่บรรลุนิติภาวะ) ต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเอง

7. ผู้กู้ยืม ผู้ค้ำประกัน ผู้แทนโดยชอบธรรม (กรณีที่มิใช่บิดาหรือมารดา) ให้ใช้ทั้ง สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน และสําเนาทะเบียนบ้าน และต้องรับรองสําเนาด้วยตนเองทุกฉบับ ในกรณีที่ผู้ค้ำประกัน ผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นบุคคลเดียวกันให้ใช้สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน และสําเนาทะเบียนบ้านเพียงชุดเดียว
8. เอกสารสัญญาจัดทำขึ้น 2 ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกันโดยผู้กู้ยืมต้องจัดเก็บสัญญากู้ยืมคู่ฉบับไว้กับตนเองจนกว่าจะชำระหนี้ได้เสร็จสิ้นแล้ว
9. ผู้กู้ยืมต้องเก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มไว้กับตนเอง แม้ว่าในภายหลังจะบอกเลิกสัญญาการกู้ยืมก็ตาม และไม่ควรให้ผู้อื่นทราบรหัสบัตรเอทีเอ็มของตน
10. เพื่อสิทธิประโยชน์ในอนาคตของผู้กู้ยืม ต้องแจ้งสถานภาพกับธนาคารกรุงไทย ได้ทราบในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัว (แบบฟอร์ม กยศ. 203) ดังนี้
1. ชื่อ – นามสกุล
2. ที่อยู่ปัจจุบัน และที่อยู่ตามภูมิลำเนา
3. การย้ายสถานศึกษา
4. การสำเร็จการศึกษา
5. การเลิกการศึกษา